การถวายสังฆทาน พอได้ยินคำนี้เมื่อไหร่เรามักจะนึกถึงถังหรือภาชนะบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีสีเหลืองสำเร็จรูปด้านในบรรจุด้วยสิ่งของจากร้านสังฆภัณฑ์ สามารถนำไปถวายพระสงฆ์อย่างสะดวกไม่จำเป็นต้องจัดหาสิ่งของเอง ในความเป็นจริงสามารถจัดเป็นลักษณะไหนก็ได้ที่มีความเหมาะสมสวยงาม ไม่จำเป็นต้องใส่ถังสีเหลืองแต่หากจำเป็นต้องเลือกแบบสำเร็จรูปให้คำนึงถึงคุณภาพของสินค้าด้วย บางร้านอาจจะจัดไว้นานเกินไปจนทำให้ของในสังฆทานอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ หมดอายุ รวมไปถึงการจัดของสังฆทานที่ไม่เหมาะแก่พระสงฆ์
การถวายสังฆทาน หมายความว่าอย่างไร
การถวายสังฆทาน หมายถึง การถวายสิ่งของให้แก่หมู่พระสงฆ์ ไม่ใช่การถวายให้แก่รูปใดรูปหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง โดยที่พระสงฆ์รูปอื่นภายในวัดสามารถใช้ร่วมกันได้ ถือว่าเป็นจตุปัจจัยวัตถุส่วนกลางนั่นเอง
คำว่า “สังฆทาน” แยกเป็น 2 คำคือ “สังฆะ” และ ”ทาน” สังฆะ หมายถึง ภิกษุตั้งแต่ 2 รูปขึ้นไป และ คำว่า “ทาน” หมายถึง การให้ การแบ่งปันและการแจกจ่าย ดังนั้นคำว่า “สังฆทาน” จึงหมายถึง การถวายให้แก่พระรูปหนึ่ง ด้วยความตั้งใจอุทิศให้เป็นของหมู่พระสงฆ์ทั้งปวง
การถวายสังฆทานถวายในโอกาสใด
การถวายสังฆทานไม่มีช่วงเวลากำหนด ทำเมื่อไรก็ได้ สามารถทำได้ทุกโอกาสถือว่าเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศบุญกุศลให้ตนเองหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในปัจจุบันชาวพุทธมักจะนิยมสังฆทานวันเกิด, วันทำบุญขึ้นบ้านใหม่, ทำบุญ 100 วัน, วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา, วันพระ เป็นต้น
เกล็ดความรู้ : การทำบุญขึ้นบ้านใหม่มีขั้นตอนอย่างไร
การถวายสังฆทานให้ผู้ล่วงลับ
การถวายสังฆทานให้แก่ผู้ลวงลับ คือการทำบุญเพื่ออุทิศบุญกุศลและขอให้ส่งผลในภพภูมิที่ดีขึ้น ซึ่งการถวายสังฆทานแก่ผู้ล่วงลับความเชื่อนั้นจะทำวันพระ, วันครบรอบเสียชีวิต 7, 50 และ 100 วัน ส่วนในกรณีที่ผู้ล่วงลับประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิตอาจจะมีการทำบุญสถานที่ที่เกิดเหตุด้วย ให้เขียนชื่อและนามสกุลของผู้ล่วงลับ ให้พระสงฆ์ผู้มารับสังฆทาน เพื่อให้ท่านกล่าวชื่อ เพื่อเรียกขานวิญญาณผู้ล่วงลับให้มารับผลบุญนี้
การถวายสังฆทานที่ถูกต้อง
การถวายสังฆทานที่ถูกต้องนั่น ควรเป็นชุดสังฆทานที่มีคุณภาพ พระสงฆ์สามารถใช้งานได้จริงและที่สำคัญต้องมีประโยชน์เป็นของส่วนรวม ก็ถือว่าเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งหลักการในการพิจารณาเลือกสิ่งของที่จะนำมาจัดสังฆทาน ควรคำนึงถึงหลักธรรมดังต่อไปนี้
- ปุพพเจตนา การมีความตั้งใจในการเลือกซื้อสิ่งของที่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่พระสงฆ์ (เป็นของที่พระสงฆ์ต้องการอย่างมีคุณภาพ)
- มุญฺจเจตนา การมีจุดประสงค์ในการถวายสังฆทานถูกต้อง คือการไม่เฉพาะเจาะจงพระสงฆ์, เป็นการถวายเข้ากองกลางของวัด, ถวายเพื่อแบ่งปัน เป็นต้น
- อปราปรเจตนา ถวายด้วยใจที่บริสุทธิ์ทำแล้วจิตใจสงบ
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้เรียกว่า “เจตนาสามกาล”
การจัดเตรียมสังฆทาน
การจัดเตรียมสังฆทานด้วยตนเองถือว่าเป็นการทำบุญที่มีอานิสงส์มาก สามารถเลือกซื้อสิ่งของได้ตามความต้องการมีคุณภาพมากกว่าการซื้อแบบสำเร็จรูป แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล สังฆทานสำเร็จรูปในปัจจุบันถูกพัฒนามีรูปแบบสวยงาม ทันสมัย ของใช้มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น สิ่งของที่นิยมนำมาจัดสังฆทาน ประกอบด้วย
- หมวดของใช้ส่วน เช่น สบู่ แปรงฟัน ยาสีฟัน มีดโกน ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ
- หมวดอุปกรณ์การเรียน สมุด ปากกา ดินสอ กระดาษ หนังสือ
- หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า โคมไฟ ไฟฉาย นาฬิกา
- ผ้าไตรจีวร ผ้าขนหนู รองเท้า
- อาหารแห้ง ข้าวสาร น้ำดื่ม น้ำผลไม้ บะหมี่กึ่งสำเร็จ นม ปลากะป๋อง
การถวายสังฆทานในพระพุทธศาสนา
ทักขิณาวิภังคสูตรในพระไตรปิฎก ได้กล่าวเกี่ยวกับสังฆทานว่า “ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ วัดนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงทอจีวรเพื่อนำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงได้ปฏิเสธที่จะรับถวายผ้าจีวรดังกล่าว
แล้วให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีนำผ้าดังกล่าวไปถวายแก่กองกลางคณะสงฆ์ เพราะว่าการถวายผ้าเป็นสังฆทานนั้นจะได้อานิสงส์มากกว่าที่จะถวายให้พระองค์เพียงผู้เดียว และถือว่าการถวายสังฆทานนั้นเป็นการบูชาพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งพระสงฆ์ทั้งปวงด้วย”
อ้างอิงข้อมูลจาก wikipedia.org
ดูบริการทั้งหมดของเราเพิ่มเติม
บทสวดในการถวายสังฆทาน
กล่าวคำถวายสังฆทาน
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุ สังโฆอิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
กล่าวคำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
คำกล่าวกรวดน้ำ
ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะนิโชติระโส ยะถา
บทสวดรับพรพร้อมกัน
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
สรุป
การถวายสังฆทาน เป็นการสอนให้ชาวพุทธไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลและให้ความสำคัญถึงความเท่าเทียมด้านปัจจัย 4 ของพระสงฆ์นั่นเอง