ปีใหม่เมือง หรือ วันขึ้นปีใหม่ไทย แต่เดิมเมื่อสมัย พ.ศ. 2432 ได้กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเปลี่ยนจากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ให้เป็นไปตามหลักสากล และได้กำหนดวันที่ 13 – 15 เมษายนเป็นวันสงกรานต์ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา นอกจากนี้ประเพณีสงกรานต์ยังได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโก
ปีใหม่เมือง คืออะไร
ปีใหม่เมือง ถือเป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ของชาวล้านนา ซึ่งจะตรงกับเดือน 7 ตามปฏิทินล้านนา เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งปีใหม่เมืองเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนชาวบ้านจะเล่นสาดน้ำกันเพื่อคลายร้อน เป็นกิจกรรมช่วงพักผ่อนหลังจากเสร็จฤดูเก็บเกี่ยวการทำเกษตร นอกจากนี้ยังใช้ประเพณีนี้รำลึกถึงบรรพบุรษที่ล่วงลับไปแล้ว ขอขมาและขอพรจากผู้ใหญ่ รวมถึงการสรงน้ำพระเพื่อเป็นสิริมงคล โดยปีใหม่เมืองของชาวล้านนาที่มีทั้งหมด 4 วัน เริ่มจากวันเริ่มเรียกว่าวันสังขารต์ล่อง วันเนาว์ วันพญาวัน และวันปากปี
สงกรานต์ แปลว่า ผ่าน เคลื่อนย้ายไป ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤต
วันสังขารล่อง
วันสังขารล่อง เป็นวันแรกของประเพณีปี๋ใหม่เมือง เมื่อเข้าวันที่ 13 เมษายน ในช่วงเช้าตรู่จะมีการจุดประทัดหรือยิงปืนทำให้เกิดเสียงดัง เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร สิ่งชั่วร้ายไหลล่องไปกับปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ซึ่งจะแบบรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไหลไปตามลำน้ำ วันนี้จะมีธรรมเนียมปฏิบัติทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุนบ้าน ซักเสื้อผ้า เก็บกวาดขยะ ทำความสะอาดเจ้าที่ ศาลพระภูมิ อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดผ่องใส
วันเนาว์หรือวันเน่า
วันเน่าหรือวันเนาว์ เป็นวันที่สองของประเพณีปีใหม่เมือง ตามประเพณีแล้ววันนี้เป็น “วันดา” คือวันจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันพญาวัน ชาวบ้านมักจะพากันไปขนทรายที่แม่น้ำ เพื่อก่อเป็นเจดีย์ทรายที่วัดและประดับตกแต่งด้วยตุงอย่างสวยงาม มีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว ไม่ควรด่าทอ สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน จะเป็นอัปมงคลไปทั้งปี เชื่อว่าถ้าดุด่าลูกหลานเรื่องใด เด็กจะนิสัยแบบนั้นไปตลอดทั้งปี และในวันนี้จะเป็นวันเตรียมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเพณี เช่นของดำหัว เครื่องทำขึ้นท้าวตังสี่เป็นต้น
*ความเชื่อส่วนบุคคล
รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปี คือ วันครอบครัว
วันพญาวัน
วันพญาวัน วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศกเปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาและอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” หลังจากนั้นนำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย เข้าร่วม “พิธีเวนทานเจดีย์ทราย” ถวายช่อตุงปีใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต นอกจากนี้ ยังนิยมเริ่มต้นเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ เป็นต้นว่า มนต์คาถา สักยันต์ หรือทำพิธีสืบชะตา ขึ้นบ้านใหม่ ไหว้ครู และในหลายพื้นที่ยังมีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและค้ำชูอุดหนุนให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
กลับสู่สารบัญวันปากปี
วันปากปี๋ วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะกินแกงขนุนกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ช่วงสาย ๆ จะทำพิธีส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขมาคารวะ ดำหัวผู้ใหญ่ พระที่เคารพนับถือตามวัดต่าง ๆ และในช่วงค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว สนใจบูชาเทียนสืบชะตาคลิก
ของดำหัวปีใหม่
ของดำหัวปีใหม่ หรือชาวล้านนามักเรียกว่า ครัวดำหัวปี๋ใหม่เมือง ในสมัยเก่าจะนิยมเตรียมน้ำส้มป่อย, ข้าวตอก, ดอกไม้, หอมแดง, หอมขาว (กระเทียม), พริกแห้ง, ข้าวแคบ, ข้าวแต๋น, น้ำอ้อย, ปลาแห้ง, ผ้าใหม่, ผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะม่วงสุก มะปราง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันเครื่องอุปโภคบริโภคอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย แต่จะมีน้ำส้มป่อย ข้าวตอก และดอกไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญในประเพณีการดำหัว เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษสิ่งใดที่ได้ทำล่วงเกิน ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ตาม และผู้ใหญ่จะปันปอนหรืออวยพรให้แก่เรา เป็นสิริมงคลต่อการเริ่มต้นปีใหม่ ดูไอเดียของดำหัว
สรุป
ปีใหม่เมืองของชาวล้านนา คือ ประเพณีสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายน แต่จะมีวันสำคัญเพิ่มมาอีก 1 วันนั่นคือวันปากปี