ความเชื่อเกี่ยวกับสะตวงของชาวล้านนานั้น จำแนกตามลักษณะของสะตวงหลัก ๆ จะมีทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งประกอบด้วย สะตวงคืบ สะตวงศอก และสะตวงอก แต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร และใช้ในพิธีกรรมใดบ้าง พลังศรัทธาจะสรุปให้ฟัง
สะตวง คืออะไร
สะตวง หรือที่เรียกกันว่า บัตรพลีนั้น คือ กระบะที่มีลักษณะคล้ายกระทงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติใช้กาบกล้วยเป็นองค์ประกอบหลักแล้วใช้ไม้ไผ่ทำเป็นตัวยึดกาบกล้วยเข้าด้วยกัน รองด้วยพื้นด้วยใบตองเพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับบรรจุเครื่องสังเวยต่าง ๆ มักใช้ประกอบพิธีกรรมทางล้านนาปัดเป่าเคราะห์ร้าย เช่น การบูชาท้าวทั้งสี่ พิธีถอนบ้าน ส่งเคราะห์ การเซ่นสังเวยภูติผีวิญญาณร้าย เป็นต้น
ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
บัตรพลี ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสี่เหลี่ยม สำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย เรียกเต็มว่า บัตรกรุงพาลี ถ้าทำเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า บัตรคางหมู ถ้ามีเสาธงประกอบตั้งแต่ ๔ เสาขึ้นไป เรียกว่า บัตรพระเกตุ ถ้าทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอด เรียกว่า บัตรนพเคราะห์
สะตวงคืบ (สะตวงท้าวทั้งสี่ สะตวงถอน)
สะตวงคืบ คือสะตวงที่มีความยาวประมาณ 1 คืบ เท่ากันทั้ง 4 ด้าน สะตวงคืบถือว่าเป็นสะตวงเครื่อง 4 จะต้องแบ่งสะตวงเป็น 4 ช่อง โดยที่ 1 ช่องจะบรรจุของสังเวยทั้ง 4 อย่างเหมือน ๆ กัน ใช้ในการขึ้นท้าวทั้งสี่ พิธีถอนต่าง ๆ เช่น ถอนบ้าน ถอนศพ ถอนวิญญาณในสถานที่ที่มีคนเสียชีวิต ถอนศพ และถอนสิ่งอัปมงคล ก่อนลงเสาเอกหรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : การทำบุญขึ้นบ้านใหม่แบบล้านนา
สะตวงศอก (สะตวงนพเคราะห์ สะตวงสืบชะตา)
สะตวงศอก หรือที่เรียกว่าสะตวงนพเคราะห์ เป็นสะตวงที่มีเครื่องมากกว่า 4 จะประกอบด้วยเครื่อง 7, เครื่อง 8, เครื่อง 12 และเครื่อง 16 มักใช้เป็นเครื่องเซ่นสังเวยพวกภูตผีวิญญาณร้ายที่ต้องการหรืออยากได้เครื่องเซ่น สะตวงนพเคราะห์สามารถใช้ประกอบพิธีถอนได้ แต่ต้องเป็นสถานที่ที่ความกว้างและมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่โต เช่น วัดวาอาราม อาคาร ศาสนวัตถุ เป็นต้น และใช้ในการประกอบพิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์
สะตวงอก (สะตวงส่งเคราะห์ สะตวง 9 ห้อง)
สะตวงอก หรือสะตวงส่งเคราะห์ มีลักษณะกว้างประมาณ 1 เมตร (ปลายมือถึงบริเวณหน้าอก) ใช้ประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์บ้าน ส่งเคราะห์เมือง ส่งเคราะห์ให้แก่บุคคลที่มียศมีตำแหน่งสูง ซึ่งสะตวงส่งเคราะห์จะแบ่งเป็น 9 ช่อง เชื่อว่าเป็นการแบ่งเพื่อบูชาเทวดาทั้ง 9 องค์
เทพนพเคราะห์เทวดา 9 องค์
เทพนพเคราะห์ เป็นเทวดาประจำวันเกิดที่มาจากโหราศาสตร์ฮินดู ที่ชาวไทยเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงชีวิตจะมีการเวียนมาครองดวงชะตาของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งหมด 9 องค์ ประกอบด้วย พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ โดยมีพระคเณศ เป็นเทพผู้ควบคุมเป็นใหญ่กว่าเทพทั้ง 9 องค์
พระอาทิตย์
พระอาทิตย์ เป็นเทพที่ถูกสร้างขึ้นโดยพระอิศวรคือการนำเอาราชสีห์ 6 ตัว มาบดและป่นจนเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีแดง เสกด้วยการพรมน้ำอมฤต กลายเป็นบุรุษที่มีวรกายเป็นสีแดงและทรงราชสีห์เป็นพาหนะ พระอาทิตย์ถือว่าเป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพองค์อื่น ทรงประจำอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี แต่เป็นศัตรูกับพระอังคาร ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์
พระจันทร์
พระจันทร์ เป็นเทพที่ถูกสร้างมาจากเทพธิดา 15 นาง โดยพระอิศวรทรงป่นให้เป็นผง ห่อด้วยผ้าสีขาว และเสกด้วยการพรมน้ำอมฤต กลายเป็นบุรุษรูปงาม มีผิวพรรณขาวนวล ทรงม้าเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นมิตรกับพระพุธแต่เป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์
พระอังคาร
พระอังคาร เป็นเทพที่พระอิศวรได้สร้างขึ้นมาจากควาย 8 ตัว นำมาบดป่นเป็นผงเช่นกัน ห่อผ้าสีชมพูหม่น แล้วเสกด้วยการพรมน้ำอมฤต กลายเป็นบุรุษที่มีสีวรกายชมพู บางตำรากล่าวว่ามีผิวสีทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ทรงประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นมิตรกับพระศุกร์แต่เป็นศัตรูกับพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์
พระพุธ
พระพุธ เป็นเทพที่พระอิศวรได้สร้างขึ้นมาจากช้างถึง 8 เชือก บดป่นเป็นผง แล้วห่อผ้าสีเขียวเหมือนกับสีของใบไม้ แล้วเสกด้วยการพรมน้ำอมฤต กลายเป็นบุรุษที่มีสีผิวกายสีเขียว ทรงคชสาร (ช้าง) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทางทิศใต้ เป็นมิตรกับพระจันทร์ แต่เป็นศัตรูกับพระราหู ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์
พระพฤหัสบดี
พระพฤหัสบดี ถือว่าเป็นครูของเทวดาทั้งหลาย มักจะเห็นได้จากวันไหว้ครูนิยมทำกันในวันพฤหัสบดี ซึ่งพระอิศวรได้สร้างขึ้นมาจากฤๅษี 19 ตน บดป่นเป็นผง แล้วห่อผ้าสีเหลืองส้ม แล้วเสกด้วยการพรมน้ำอมฤต กลายเป็นบุรุษที่มีสีผิวกายสีส้มแดง ทรงกวางเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นมิตรกับพระอาทิตย์แต่เป็นศัตรูกับพระจันทร์ ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์
Block "1162" not found
พระศุกร์
พระศุกร์ ถือว่าเป็นครูเช่นเดียวกันกับพระพฤหัสบดี แต่พระศุกร์เป็นครูของเหล่าพวกยักษ์ ถูกสร้างขึ้นมาจากโค 21 ตัว บดป่นเป็นผง แล้วห่อผ้าสีฟ้าอ่อน แล้วเสกด้วยการพรมน้ำอมฤตโดยพระอิศวร กลายเป็นบุรุษที่มีสีผิวกายสีฟ้า บางตำราก็กล่าวว่าเป็นครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ ทรงโค (วัว) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทางทิศเหนือเป็นมิตรกับพระอังคาร แต่เป็นศัตรูกับพระเสาร์ ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์
พระเสาร์
พระศุกร์ เป็นเทพที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเสือ 10 ตัว บดป่นเป็นผง แล้วห่อผ้าสีดำ แล้วเสกด้วยการพรมน้ำอมฤตโดยพระอิศวร กลายเป็นบุรุษที่มีสีผิวกายดำ ทรงเสือเป็นพาหนะ ทรงประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นมิตรกับพระราหู แต่เป็นศัตรูกับพระศุกร์ ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์
พระราหู
พระราหู ถูกสร้างขึ้นมาจากหัวผีโขมด 12 หัว บดป่นเป็นผง แล้วห่อผ้าสีทอง แล้วเสกด้วยการพรมน้ำอมฤตโดยพระอิศวร กลายเป็นยักษ์ มีหางและวรกายเป็นสีนิล ทรงครุฑเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นมิตรกับพระเสาร์ แต่เป็นศัตรูกับพระพุธ ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ลุ่มหลงมัวเมา
พระเกตุ
พระเกตุ เป็นเทพที่ถูกสร้างขึ้นมาจากหางของพระราหู ในคติฮินดูถือว่าเป็นน้องชายของพระราหู บางตำราก็กล่าวว่า สร้างมาจากพญานาค 12 ตัว บดป่นเป็นผง แล้วห่อผ้าสีทอง แล้วเสกด้วยการพรมน้ำอมฤตโดยพระอิศวร กลายเป็นบุรุษที่มีสีผิวกายสีทอง ประดับด้วยทองคำและแก้วโกเมน ทรงพญานาคเป็นพาหนะ ประจำอยู่เบื้องกลาง บรรเทาเรื่องร้าย เข้ามาช่วยเสริมด้านที่ดี
บริการยอดนิยม
ของที่ใส่ในสะตวง (ครัวสะตวง)
มักจะนิยมใส่ดอกไม้ ข้าวสุก อาหารคาว (แกงส้มแกงหวาน) หมากพลู บุหรี่ ผลไม้ (เช่น มะพร้าว อ้อย กล้วย) ขนมของหวาน ช่อ ธูปเทียน น้ำ จะนำดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปคน สัตว์ (ช้าง งู เสือ ไก่ ม้า วัว ควาย)
เครื่องสังเวยเหล่านี้สื่อถึงธาตุทั้ง 4 ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ
- ธาตุดิน คือ อาหารและขนมของหวาน
- ธาตุน้ำ คือ น้ำสะอาด
- ธาตุลม คือ ช่อ (ธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก)
- ธาตุไฟ คือ ธูปเทียน
ครัวสะตวง อาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่และความเชื่อของแต่ละบุคคล
สรุป
สะตวง คือ ภาชนะที่บรรจุเครื่องสังเวยต่าง ๆ ใช้ในพิธีกรรมภาคเหนือ เป็นการบูชาเทพเทวดาและใช้เป็นเครื่องเซ่นให้กับดวงวิญญาณสิ่งที่มองไม่เห็น โดยสะตวงแต่ละประเภทแบ่งตามวัตถุประสงค์ที่ใช้ รวมถึงขนาดของสะตวงด้วย